วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ยาเสพติดกับสังคมไทย



ยาเสพติดกับสังคมไทย

ในประเทศไทยยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาของชาติอยู่ในขณะนี้   มีประวัติความเป็นมาอย่างไรเป็นสิ่งที่น่าสนใจ   เพราะมนุษย์ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาเป็นเวลาช้านาน   บางชนิดก็ให้ทั้งคุณและโทษ  บางชนิดก็มีแต่โทษประการเดียว  อยู่ที่การนำไปใช้  ปัจจุบันมียาเสพติดชนิดต่าง ๆ ในท้องตลาดมากกว่า 120 ชนิด   บางชนิดหาซื้อได้ง่าย  ตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงราคาแพง ทำให้กลุ่มผู้ใช้ยามีอยู่หลายระดับในสังคม
โดยมากผู้ติดยามักเริ่มด้วยความอยากรู้อยากลอง และความคึกคะนองเป็นส่วนใหญ่  สภาพแวดล้อม สังคม และค่านิยมในกลุ่มเป็นแรงผลักดันอีกชั้นหนึ่ง  ประกอบกับหาซื้อได้ง่าย ทำให้จำนวนผู้ติดยาไม่ได้ลดน้อยลงถึงแม้จะถูกบรรจุลงในวาระแห่งชาติก็ตาม  ก็ยังมีข่าวออกมาให้เห็นกันอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์  ซึ่งล้วนก่อความเสียหายให้กับประเทศชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปล้นชิง หรืออาชญากรรม  ล้วนนำมาซึ่งความสูญเสีย
ปัจจุบันยาเสพติดได้เปลี่ยนรูปแบบของการระบาดไปมาก จากเดิมเคยพบเป็นเฮโรอีน ก็กลายเป็นยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี ตัวยานี้ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยเข้าไปปรับหรือเปลี่ยนแปลงสารเคมีบางตัว ทำให้มีฤทธิ์ที่ทำให้ผู้เสพรู้สึกคึกคัก มีพลัง หรือเพลิดเพลินค่อนข้างมาก   หลายคนชอบใจติดใจในความสนุกสนานที่ได้รับจากฤทธิ์ของยา  กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว
จำแนกตามการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แบ่งเป็น 4 ประเภท
· ประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ยานอนหลับ ยาระงับประสาท ยากล่อมประสาท เครื่องดื่มมึนเมา บาร์บิทูเรต ทุกชนิด รวมทั้ง สารระเหย เช่น ทินเนอร์ แล็กเกอร์ น้ำมันเบนซิน กาวเป็นต้น มักพบว่าผู้เสพติดมี ร่างกายซูบซีด ผอมเหลือง อ่อนเพลีย ฟุ้งซ่าน อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
· ประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี กระท่อม โคเคน เครื่องดื่มคาเฟอีน มักพบว่าผู้เสพติด จะมีอาการ หงุดหงิด กระวนกระวาย จิตสับสน หวาดระแวง บางครั้งมีอาการคลุ้มคลั่ง หรือทำในสิ่งที่คนปกติ ไม่กล้าทำ เช่น ทำร้ายตนเอง หรือฆ่าผู้อื่น เป็นต้น
· ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี เห็ดขี้ควาย ดี.เอ็ม.ที.และ ยาเค เป็นต้น ผู้เสพติดจะมีอาการประสาทหลอน ฝันเฟื่อง หูแว่ว ได้ยินเสียงประหลาดหรือเห็นภาพหลอนที่น่าเกลียดน่ากลัว ควบคุมตนเองไม่ได้ ในที่สุดมักป่วยเป็นโรคจิต
· ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน คือทั้งกระตุ้นกดและหลอนประสาทร่วมกัน ผู้เสพติดมักมี อาการหวาดระแวง ความคิดสับสน เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ควบคุมตนเองไม่ได้และป่วยเป็นโรคจิตได้แก่ กัญชา
จำแนกตามแหล่งที่มา
· จากธรรมชาติ เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน กระท่อม กัญชา ฯลฯ
· จากการสังเคราะห์ เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน ยาอี เอ็คตาซี ฯลฯ
จำแนกตามกฎหมาย
· พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เช่น แอมเฟตามีน เฮโรอีน LSD ยาอี ฯลฯ
· พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตใจและประสาท พ.ศ. 2518 เช่น อีเฟดรีน
สาเหตุของการติดยา
· ความอยากรู้อยากลอง ด้วยความคึกคะนอง เป็นส่วนใหญ่
· เพื่อนชวน หรือต้องการให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
· มีความเชื่อในทางที่ผิด เช่น เชื่อว่ายาเสพติดบางชนิด อาจช่วยให้สบายใจ ลืมความทุกข์ หรือช่วยให้ทำงานได้มากๆ
· ขาดความระมัดระวังในการใช้ยา เพราะคุณสมบัติของยา บางชนิดอาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดการเสพติดได้โดยไม่รู้ตัว หากใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยขาดการแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร
· สภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัย มีการค้ายาเสพติด หรือมี ผู้ติดยาเสพติด
· ถูกหลอกให้ใช้ยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
· เพื่อหนีปัญหา เมื่อมีปัญหาแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับตัวเองได้
· อาจติดจากการเล่นการพนัน หรือ เกม
การป้องกัน
· ป้องกันตนเอง ไม่ทดลองยาเสพติดทุกชนิด และพยายามปลีกตัวออกห่างจากบุคคลหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถ้ามีปัญหาหรือไม่สบายใจ อย่าเก็บไว้คนเดียว ควรปรึกษาพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬาหรือทำงานอดิเรกต่าง ๆ ตามความสนใจและความถนัด ระมัดระวังในการใช้ยาต่าง ๆ และศึกษาให้เข้าใจถึงโทษภัยของยาเสพติด
· ป้องกันครอบครัว ควรสอดส่องดูแลเด็ก และบุคคลในครอบครัวอย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อบรมสั่งสอนให้รู้ถึงโทษภัยของยาเสพติด ดูแลเรื่องการคบเพื่อน คอยส่งเสริมให้เขารู้จักการใช้เวลาในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น การทำงานบ้าน เล่นกีฬา ฯลฯ เพื่อป้องกันมิให้เด็กหันเหไปสนใจในยาเสพติด สิ่งสำคัญก็คือทุกคนในครอบครัวควรสร้างความรัก ความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
· ป้องกันชุมชน หากพบผู้ติดยาเสพติดควรช่วยเหลือแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษาโดยเร็ว โดยกฎหมายจะยกเว้นโทษให้ผู้ที่สมัครเข้าขอรับการบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติด ก่อนที่ความผิดจะปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ และเมื่อรู้ว่าใครกระทำผิดฐานนำเข้าส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.)
อย่างไรก็ตาม  ยาเสพติดในสังคมไทยนั้นมีมาช้านาน  การจะให้หมดไปเลยนั้นเป็นไปได้ยาก  หากแต่ถ้าทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแล  เป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง  ล้อมรั้วให้ครอบครัวด้วยความรักและเข้าใจ  เชื่อว่าปัญหายาเสพติดจะลดน้อยลง  และอาจหมดไปในที่สุด